วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

บุรีรัมย์

นอกจากวันสำคัญทางศาสนา วันสงกรานต์ และวันขึ้นปีใหม่ ชาวบุรีรัมย์ยังมีขนบธรรมเนียมประเพณีหลายอย่าง เช่น เทศกาลเดือนห้า มีการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวให้ผู้สูงอายุ มีการละเล่นพื้นบ้าน เช่น สะบ้า ชักเย่อ ฯลฯ บางท้องถิ่น เช่น อำเภอพุทไธสงจะมีการเซิ้งบั้งไฟ เทศกาลเข้าพรรษามีการประกวดเทียนเข้าพรรษา เทศกาลเดือนสิบสองมีประเพณีลอยกระทง แล้วยังมีงานประเพณีของชาวจังหวัดบุรีรัมย์ที่สืบต่อกันมาอีกหลายงาน
ประเพณีมหกรรมว่าวอีสานบุรีรัมย์ (Isan Grand Kite Tradition)
จัดขึ้นช่วง : วันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือน ธันวาคม
ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวหรือย่างเข้าสู่ฤดูหนาว มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดแรง คนชนบทก็พากันทำว่าวแอก ซึ่งมีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เล่นกันทุกหมู่บ้าน เป็นประเพณีการละเล่นของท้องถิ่นของชาวอีสานนานมาแล้ว บุรีรัมย์จัดมหกรรมว่าวอีสานขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2529 เพื่ออนุรักษ์เอกลักษณ์ของอีสานใต้ให้คงอยู่และเผยแพร่ให้เป็นทรู้จักกว้างขวาง เปิดโอกาสให้คนทุกตำบล ทุกหมู่บ้านทำว่าวแอกมาแข่งขันชิงรางวัลกัน ว่าวที่นำมาเข้าแข่งขันต้องมีขนาดปีกกว้าง 2 เมตร ครึ่งขึ้นไป ตัดสินกันที่ความสวยงาม เสียงแอกและลีลาของว่าวบนท้องฟ้า นอกจากนี้ มีการประกวดขบวนแห่ว่าวที่ยิ่งใหญ่สวยงาม ตอนค่ำมีมหรสพ การละเล่นและการแสดงสินค้าพื้นบ้าน งานมหกรรมว่าวอีสานจัดขึ้นที่สนามกีฬาจัง หวัดอำเภอห้วยราชในวัน เสาร์-อาทิตย์แรกของเดือนธันวาคมของทุกปี
ประเพณีแข่งเรือยาวจังหวัดบุรีรัมย์ (Buri Ram Long Boat Races)
จัดขึ้นช่วง : วันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือน พฤศจิกายน ของทุกปี
เป็นงานประเพณีประจำปี กำหนดจัดในวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลากในลำน้ำมูล ชาวเรือบุรีรัมย์และจาก จังหวัดต่าง ๆ มาร่วมชุมนุมประลองฝีพายที่สนามแข่งเรือหน้าที่ว่าการอำเภอสตึก เพื่อแข่งขันความเป็นเจ้ายุทธจักรแห่งลำน้ำมูล ในแต่ละปีมีจำนวน เรือเข้าแข่งไม่น้อยกว่า 40-50 ลำ และยังมีขบวนเรือตกแต่งแฟนซีงดงามด้วย ประเพณีแข่งเรือยาวที่สนามแห่งนี้ เดิมเป็นประเพณีท้องถิ่นสังสรรค์กัน ในหมู่ญาติมิตรและสักการะเจ้าพ่อวังกรุด ซึ่งเป็นชื่อวังน้ำวนช่วงหนึ่งของแม่น้ำมูล ต่อมาได้จัดเป็นงานประเพณีของจังหวัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 เป็นต้นมา
งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง (Khao Phanom Rung Festival)
จัดขึ้นช่วง : วันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือน เมษายน
ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นศาสนสถาน ในลัทธิพราหมณ์และ ได้รับการแปลงเป็นพุทธสถานในสมัยหลัง ช่วงที่ถูกทิ้งร้างอยู่มีผู้นำพระพุทธบาทจำลองไปประดิษฐานไว้ที่ปรางค์น้อยบนเขา กลายเป็นประเพณีของชาวบ้านรอบ ๆ บริเวณนั้นพากันขึ้นไปนมัสการปิดทองรอย พระพุทธบาทนี้รวมทั้งไหว้พระทำบุญในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี เนื่องจากปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นโบราณสถานที่ยี่งใหญ่สวยงามและเป็นประเพณีแต่ดั้งเดิม จังหวัดจึงได้ส่งเสริมให้มีงานประเพณีในวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือนเมษายน โดยจัดกิจกรรมต่างๆ อันเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมโบราณ ได้แก่ ขบวนแห่ราชประเพณีขอมโบราณ การแสดงแสง-เสียง ย้อนรอยอดีตพนมรุ้ง และการแสดงระเบิดภูเขาไฟจำลอง
งานนมัสการพระเจ้าใหญ่ที่วัดหงษ์ (Phra Chao Yai Wat Hong Fair)
จัดขึ้นช่วง : เดือนมีนาคม
บ้านศีรษะแรด ตำบลมะเฟือง อำเภอพุทไธสง จัดงานในวันเพ็ญเดือน 3 เป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะพระเจ้าใหญ่เป็นพระพุทธรูปที่ชาวบุรีรัมย์และชาวอีสาน ทั่วไปเลื่อมใส ศรัทธามาก การเดินทางไปวัดหงษ์ จากตลาดพุทไธสง ถึงทางแยกเลี้ยวขวา ใช้เส้นทางที่จะไปพยัคฆภูมิพิสัย ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร และ มีทางแยกเข้าวัดอีก 2 กิโลเมตร
งานนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลอง (Lord Buddha’s Footprint Replica)
จัดขึ้นช่วง : วันเพ็ญเดือน 3
ที่เขากระโดง อำเภอเมือง จัดงานในวันเพ็ญเดือน 3 เช่นกัน ประชาชนจะไปนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลองและพระสุภัทรบพิตร ตลอดจนเที่ยวงานกันอย่างคับคั่ง
งานเครื่องเคลือบพันปีประเพณีบ้านกรวด (Jobs millennial tradition Kruat porcelain)
จัดขึ้นช่วง : เดือนเมษาของทุกปี
ในอดีตสันนิษฐานว่าพื้นที่อำเภอบ้านกรวดเคยมีความเจริญรุ่งเรือง เป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และเป็นศูนย์กลางในการผลิต เครื่องเคลือบโบราณ ที่เรียกว่า "เครื่องถ้วยบุรีรัมย์" ส่งไปจำหน่ายยังหัวเมืองต่างๆ อำเภอบ้านกรวดยังมีแหล่งเตาเผาเครื่องเคลือบ โบราณประมาณ 100 เตาซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรือง ความชาญฉลาดและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ได้สร้างสรรค์งานศิลปะไว้ พร้อมทั้งชาวอำเภอบ้านกรวดตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภูมิปัญญามรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่น มีการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้ และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดบุรีรัมย์ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น