วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

การละเล่นของชาวไทยเขมร บุรีรัมย์

การละเล่นของชาวไทยเขมร บุรีรัมย์ 

    การละเล่นและการแสดงพื้นเมืองของชาวไทยเขมร จ.บุรีรัมย์
        จ.บุรีรัมย์แหล่งที่มีการละเล่นพื้นบ้านที่สำคัญ ได้แก่ อ.ประโคนชัย ทั้งการแสดงพื้นบ้านในพิธีกรรมรักษาคนไข้เรียกว่า เรือนปันโจลหรือรำเทพประทับทรง เรือมตลอกหรือรำกะลา เรือมก็อนเตียลหรือรำทอเสื่อ เรือมจับกรับ (จารีรัตน ปรกแก้ว และคณะ ใน เอกสารวิชาการราชภัฎบุรีรัมย์ฉบับปฐมฤกษ์ มหกรรมวัฒนธรรม 2541, 2541 : 30)

ลิเกเขมร
       โดยเฉพาะที่ อ.ประโคนชัย คณะที่นิยมมาแสดงบ่อย ๆ คือ คณะของตาเผือก ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านไทร การเล่นเหมือนลิเกทั่วไป แต่ลิเกเขมรจะใช้ดนตรีเฉพาะรำมะนาเท่านั้น เรื่องที่แสดงส่วนมากเป็นเรื่องจักร ๆ วงศ์ๆ เช่น จันทโครพ ลักษณวงศ์ สุวรรณล่องลอย ฯลฯ บทร้องเป็นภาษาเขมรทั้งหมด (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ,2544 : 132)

การเล่นกันตร๊อบเมือน หรือ ปรบไก่
          เป็นการละเล่นที่นิยมมากในงานเผาศพขึ้นบ้านใหม่ บวชนาค ฉลองพระปีใหม่เป็นต้น คล้ายการร้องเพลงโคราช แบ่งผู้เล่นเป็นฝ่ายชายฝ่ายหญิง ข้างละ2-3 คน ร้องเป็นนิทานเกี้ยวพาราสี บทตลกเฮฮา อวยพร แต่ไม่มีดนตรีประกอบ มีเฉพาะการปรบมือและตีจังหวะเท่านั้น การละเล่นชนิดนี้เกิดขึ้นในกัมพูชา มาเผยแพร่ครั้งแรกที่ อ.บ้านกรวดแล้วค่อยขยายไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ จนทั่ว อ.ตะลุง ซึ่งปัจจุบันคือ อ.ประโคนชัยจนกลายเป็นการละเล่นพื้นบ้านของที่นี่ (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ,2544 : 133)

มโหรีเขมร
       มโหรีเขมรของป้าพลอยลาดประโคนและป้าคำเรียบ สุทันรัมย์ แห่งบ้านสะเดาต.สะเดา อ.พลับพลาชัย จ.บุรีรัมย์ เป็นวงดนตรีที่สืบเชื้อสายมาจากราชสำนักเขมร เนื่องจากคุณพ่อของป้าพลอยและป้าคำเรียบอพยพมาจากประเทศกัมพูชาเกือบสองชั่วอายุคน เครื่องดนตรีที่ใช้ ได้แก่ จะเข้ กระจับปี่(จับเปย) ซอ กระดงเต่า กลอง ปี่ กรับ ล้วนแล้วแต่ประดิษฐ์ขึ้นเองทั้งสิ้น ทุกคนในวงดนตรีล้วนแต่เป็นญาติพี่น้องกันทั้งสิ้น มีอาชีพทำไร่ ทำนา จะรวมตัวกันเมื่อมีการออกงานหรือมีการว่าจ้าง งานที่รับมักเป็นงานเกี่ยวกับพิธีกรรม ทรงเจ้าเข้าผี งานมงคลต่างๆ เช่น ขึ้นบ้านใหม่ งานบวช งานแต่ง เป็นลักษณะงานที่มีแบบแผนประเพณีที่จำเป็นต้องมีวงมโหรีประกอบ (องค์บรรจุน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 26 ฉบับที่ 1 พฤศจิกายน 2547 หน้า 64-65)


เพลงกล่อมเด็ก
        เพลงกล่อมเด็กที่มีชื่อเสียงของจ.บุรีรัมย์ คือ เพลงกล่อมเด็ก ของ ป้าพลอย ลาดประโคน ต.สะเดา อ.พลับพลาชัย (จารีรัตน ปรกแก้ว และคณะใน เอกสารวิชาการราชภัฎบุรีรัมย์ ฉบับปฐมฤกษ์ มหกรรมวัฒนธรรม 2541, 2541 : 31)

การร้องเพลงอมตูก (พายเรือ) อุปกรณ์การเล่นมีกลอง ขลุ่ย
    การร้องเพลงกันเจก(กันจันเจกะเขียดตาปาด) เป็นการร้องเล่นสนุกสนาน ขณะที่ร้องจะเต้นไปด้วยการร้องกำแป็ดแปแล นิยมร้องเวลามีคนมารวมกันมาก ๆเพื่อความสนุกสนานการร้องอายัย มีลักษณะเดียวกันกับการร้องกำแป็ดแปแล มีเครื่องดนตรีประกอบ เช่น ขลุ่ย ซอ กลอง ฯลฯ
(คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ,2544 : 133-134)

การแสดงนาฏศิลป์ ได้แก่

เรือมจับกรับ หรือ รำจับกรับ 
        เป็นการแสดงพื้นบ้านชนิดหนึ่ง การแสดงมีทั้งชายและหญิง ทุกคนถือกรับประกอบการแสดง เดิมเป็นการแสดงไม่มีรูปแบบ คือมีการเล่นกรับประกอบกับการรำ ภายหลังสถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ร่วมกับภาควิชานาฏศิลป์ได้นำการละเล่นนี้มาฟื้นฟูและมีการจัดรูปแบบเป็นของตนเองมากขึ้น ใช้แสดงในการรื่นเริงและงานประจำปี เพลงที่ใช้ในการแสดงมีลักษณะเป็นเพลงพื้นบ้านของอีสานใต้เช่น เพลงอายัย เพลงกันตุ๊บ เพลงปะการันเจก (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ,2544 : 135-136)

เรือมก็อนเตียบ (ระบำเสื่อ) 
        การทอเสื่อเป็นอาชีพพื้นบ้านอย่างหนึ่งของคนอีสาน หมู่บ้านโคกเมืองเป็นที่ ๆมีการทอเสื่อสวยงามมาก ทางวิทบาลัยครูบุรีรัมย์ ภาควิชานาฏศิลป์ จึงคิดจะเผยแพร่ขั้นตอนการทอเสื่อโดยคิดประดิษฐ์เป็นการแสดงชุดนี้ ขั้นตอนการแสดงมีตั้งแต่การชักชวนไปถอนกก นำมาล้าง ตัดกก เหลากก มัดกก ตาก แล้วนำมาทอ การแสดงไม่มีอุปกรณ์แต่ใช้ลีลาท่าทางในการสื่อ ใช้ดนตรีพื้นเมืองในวงกันตรึม และใช้เพลง แฮเนี้ยก (แห่นาค) ประกอบ (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ,2544 : 136)

เรือมตลอก (รำกะลา) 
     สืบเนื่องมาจากความนิยมในการปลูกมะพร้าวกันทุกบ้านในแถบอีสานใต้ แต่การปลูกมะพร้าวในภาคอีสานนั้นปลูกยาก ต้องคอยเอาใจใส่เป็นพิเศษ การระบำกะลาเป็นที่นิยมมากในสมัยโบราณ แต่ปัจจุบันค่อย ๆ สูญหายไป ศูนย์วัฒนธรรมจึงมีโครงการศึกษารวบรวมท่ารำมาปรับปรุงให้เข้ากับลักษณะท้องถิ่น การรำชนิดนี้เป็นลักษณะของการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมแถบชายแดนติดต่อระหว่างเขมรไทย การสืบค้นจึงสืบค้นจากศิลปินเขมรหรือคนเขมรที่เข้ามาอยู่ในไทยเช่น ที่ค่ายสันติสุข อ.บ้านกรวด และจากคุณป้าละม่อม เคยเป็นศิลปินเขมร เข้ามาอยู่ที่ประโคนชัย (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ,2544 : 137-138)

เรือมปันโจล
        เป็นการแสดงพื้นบ้านที่แทรกอยู่ในพิธีกรรมบองบ๊อด (รักษาคนไข้) (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2544 : 139)

กันตรึม 
      เดิมใช้สำหรับขับประกอบการเซ่นบวงสรวงเวลามีการทรงเจ้าเข้าผี ปัจจุบันใช้เล่นเพื่อความบันเทิงและได้รับความนิยมมาก ความไพเราะอยู่ที่เสียงของผู้ร้องและความไพเราะของดนตรี (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ,2544 : 142)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น