วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2560

นิทาน ตำนาน เมือง นางรอง

ตำนานเมืองนางรอง
วรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องเมืองนางรอง มีการเล่าสืบต่อกันมาหลายสำนวน แต่ในที่นี้จะนำเสนอเพียง 2 สำนวน ดังนี้
สำนวนที่ 1 นางอรพิมพ์หนีท้าวพรหมทัตเจ้าเมืองพิมายมากับท้าวปาจิต โอรสเจ้าเมืองนครธม นางอรพิมพ์นั่งร้องไห้เพราะท้าวปาจิตต์ถูกงูกัดตายที่นี่ เลยเรียกเมืองนี้ว่า นางร้อง แล้วเพี้ยนมาเป็น นางรอง
สำนวนที่ 2 เล่าขานกันว่า สมัยของพระเจ้าชัยวรมันแห่งนครธม พระองค์มีพระราชโอรสองค์หนึ่งนาม เจ้าชายปาจิตต์ เมื่ออายุครบ 18 ชันษา โหรได้ทำนายไว้ว่าหญิงที่จะมาเป็นพระชายาของเข้าชายยังไม่ถือกำเนิด และอยู่ห่างจากนครธมมาก บิดามารดาของหญิงผู้นั้นเป็นคนธรรมดา ทำไร่อยู่ที่ภูเขาแห่งหนึ่ง สันนิษฐานว่าเป็นเขาไปรบัดหรือเขาพนมรุ้ง เวลานี้จวนถือกำเนิดจากครรภ์มารดาแล้ว ควรจะให้มีผู้พิทักษ์รักษาความปลอดภัย
เจ้าชายปาจิตต์เชื่อในคำทำนายนั้นจึงออกตามหา โหรกราบทูลเพิ่มเติมว่า บิดามารดาของหญิงผู้นั้นมีอายุเกินหกสิบปีแล้ว มารดาของหญิงนั้นไม่ว่าจะย่างเท้าไปทิศไหนก็จะมีคนกั้นร่ม หรือสัปทนให้เสมอ แต่จะมีเพียงท้าวปาจิตต์เท่านั้นที่แลเห็นนาง ที่อยู่ของหญิงผู้นี้อยู่ทางทิศพายัพของนครธม ต้องเดินด้วยเท้าหลายวันจึงจะถึง เมื่อเจ้าชายเดินทางมาทิศตะวันตกได้พบม้าลักษณะงามตัวหนึ่ง (แซะลออ เป็นภาษาเขมร แปลว่า ม้างาม) ครั้นถึงเมืองนางรองที่บ้านหินโคน สืบเสาะได้ความว่าที่เขาพนมรุ้งมีคนทำไร่ และมีลักษณะดังคำทำนายอาศัยอยู่จริง จึงได้เดินทางไปและแจ้งให้บิดามารดาของนางทราบโดยละเอียด
ต่อมาเจ้าชายได้แจ้งเรื่องไปยังพระราชบิดาที่นครธม ให้เกณฑ์ผู้คนตัดถนนฝังหลักเขตจากเขาพนมรุ้งไปถึงนครธม (ดังปรากฏหลักหินมาถึงทุกวันนี้ที่บ้านจะบวก ต.นางรอง 1 หลัก บ้านหินโคนน้อย 1 หลัก และที่บ้านหินโคนดง 1 หลัก รวม 3 หลัก หลักหินที่ฝังไว้นี้สันนิษฐานว่าคงฝังเป็นระยะทาง 400 เส้น ต่อ 1 หลัก ทางหรือถนนที่สร้างขึ้นไว้นั้น น่าจะเป็นทางเดินช่องแซะละออทุกวันนี้ แต่เพี้ยนมาเป็นช่องสายออหรือช่องกุ่ม)
หลังจากหญิงชาวไร่คลอดบุตรหญิงออกมาจนมีอายุครบ 16 ปี มีรูปโฉมงดงามมาก ชื่อ อรพิมพ์ เจ้าชายหลงใหลรักใคร่ในตัวนางมากจึงเตรียมที่จะอภิเษกตามราชประเพณี
กล่าวถึงอีกเมืองหนึ่ง คือ เมืองพิมาย ผู้ครองนคร คือ ท้าวพรหมทัต ครองเมืองหน้าด่านดูแลต่างพระเนตรพระกรรณของพระเจ้านครธม (สันนิษฐานว่าเมืองพิมายเดิมน่าจะเรียกว่าพี่มา สาเหตุมาจากนางอรพิมพ์ เมื่อพบกับเจ้าชายปาจิตต์ก็อุทานออกมาว่า พี่มา เมื่อนานเข้าก็เพี้ยนเป็นพิมาย จนทุกวันนี้) ท้าวพรหมทัตมีความร้อนรุ่นใจใคร่ออกไปเที่ยวป่า รอนแรมมาจนถึงพนมรุ้ง ตั้งค่ายพักแรมที่ริมสระน้ำใหญ่เรียกว่า สระเพลิง (อาจเป็นทะลเมืองต่ำ บ้านโคกเมือง อ.ประโคนชัย ในปัจจุบัน) อยู่ทางทิศตะวันออกของปราสาทหิน เมื่อได้ขึ้นไปบนปราสาทก็พบหญิงสาวโฉมงาม จึงอยากได้นางไปเชยชม จึงได้ให้ทหารของตนฉุดคร่านางจากบิดามารดาและทหารของเจ้าชายปาจิตต์จนสำเร็จ ท้าวพรหมทัตต์นำตัวนางอรพิมพ์ไปยังเมืองพิมายโดยไม่รู้ว่านางเป็นคู่หมั้นของท้าวปาจิตต์ ระหว่างที่เดินทางมาถึงบ้านจะบวก นางอรพิมพ์ได้ขอร้องให้ท้าวพรหมทัตหยุดพักการเดินทาง เพื่อหาโอกาสส่งข่าวให้เจ้าชายปาจิตต์ทราบ แต่ท้าวพรหมทัตไม่ยอม ครั้นเดินทางมาถึงลำน้ำทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองนางรอง นางอรพิมพ์ได้ลงจากช้างและนั่งร้องไห้ที่ริมฝั่งน้ำ ครวญถึงบิดามารดาและเจ้าชายปาจิตต์ ต่อมาได้เรียกลำน้ำนี้ว่า ลำน้ำนางร้อง และเพี้ยนมาเป็นลำน้ำนางรอง ภายหลังจากหยุดพักพอสมควรแล้วก็เดินทางต่อจนถึงเมืองพิมายโดยที่มีทหารของเจ้าชายปาจิตต์สะกดรอยตามไปจำนวนหนึ่งและอยู่ปะปนไปกับผู้คนในเมืองเพื่อหาโอกาสช่วยเหลือและรอเจ้าชายยกทัพมาสมทบ
ฝ่ายเจ้าชายปาจิตต์ยกทัพมาตามเส้นทางเดิม โดยไม่หยุดพักทั้งกลางวันและกลางคืน ผ่านบ้านแซะ (เมืองครบุรี) สระประทีป และมาสว่างที่บ้านเสิงสาง (อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ปัจจุบัน) แล้วเดินทางมาถึงลำน้ำลงเรือที่บ้านวังบุกระถิน (ลำปลายมาศในปัจจุบัน) เห็นข้าราชบริพารของท้าวพรหมทัตเตรียมเรือขันหมากไว้สองลำ เห็นดังนั้นจึงโกรธแค้นท้าวพรหมทัตมาก จึงจมเรือขันหมากเสียในลำนำนี้ (ลำน้ำนี้จึงได้ชื่อว่า ลำปลายมาศ เพราะมีทองขันหมากจมอยู่มากมาย) และเปลี่ยนจากการไปทางเรือไปทางรถม้าแทน เมื่อถึงบ้านกงรถก็ทิ้งรถไว้ ที่นี่จึงได้เรียกว่า บ้านกงรถ มาจนทุกวันนี้ (บ้านกงรถ อยู่ในเขต ต.กงรถ อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา) จากนั้นเจ้าชายได้ปลอมตัวเป็นคนสามัญ เดินทางต่อไปยังเมืองพิมายตามหานางอรพิมพ์จนพบ เมื่อพบกันครั้งแรกนางอรพิมพ์ได้อุทานด้วยความยินดีว่า พี่มาแล้ว ถึง 3 ครั้ง หลังจากนั้นเจ้าชายจึงได้ฆ่าท้าวพรหมทัต และนำตัวนาวอรพิมพ์กลับเมืองนครธม โดยเดินทางผ่านทุ่งกระเต็นในปัจจุบัน ซึ่งห่างจากเมืองพิมายมาไกลมาแล้ว และได้มีการเลี้ยงฉลองเต้นรำกันที่ทุ่งแห่งนี้ จนเรียกขานว่า ทุ่งกระเต้น ต่อมาเพี้ยนเป็น ทุ่งกระเต็น รุ่งขี้นได้เดินทางผ่านเส้นทางเดิมและวกมาทางทิศตะวันออกจนถึงทุ่งแห่งหนึ่งก็หยุดพักผ่อน ซึ่งทุ่งนี้ต่อมาเรียกว่า ทุ่งอรพิมพ์ ซึ่งอยู่ใกล้บ้านหนองทองลิ่ม ห่างออกไปทางทิศใต้ประมาณ 100 เส้น จากนั้นออกเดินทางต่อไปถึงบ้านแซะละออเข้าสู่นครธม และได้อภิเษกกับนางอรพิมพ์เป็นกษัตริย์กับมเหสีในที่สุด (คณะกรรมฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2544 : 121-123) **มีปราสาทชื่อ ปราสาทประจิต เป็นปราสาทร้างยังไม่ขึ้นทะเบียน อยู่บ้านหนองเสม็ด อ.นางรองด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น